สช.จัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ภาคีเคาะฉันทมติเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย มุ่งเน้นการพัฒนาเด็ก 2,500 วันแรกของชีวิต สร้างความตระหนัก-สภาพสังคมที่เอื้อต่อการมีบุตร บนการเลี้ยงดูที่มีประสิทธิภาพ เตรียมนำเข้าสู่การรับรองในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 วันที่ 21-22 ธ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ” โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาระเบียบวาระดังกล่าว พร้อมร่วมกันมีฉันทมติเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ก่อนที่จะมีการนำไปรับรองและกล่าวแสดงถ้อยแถลงเพื่อร่วมขับเคลื่อนร่างมตินี้ร่วมกัน บนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566
สำหรับกรอบทิศทางนโยบายของ “การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ” เป็นข้อเสนอให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีความตระหนัก และร่วมกันเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะสร้างค่านิยมร่วมในสังคม “สร้างบ้านแปงเมืองด้วยการสร้างเด็กที่มีคุณภาพ” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะ 2,500 วันแรกของชีวิต อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาความสามารถในการดูแลและควบคุมตนเอง ความสามารถในการเรียนรู้ และการมีพัฒนาการที่สมวัย ซึ่งทุนมนุษย์จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีการดําเนินงานของหลายภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่กลับพบว่าสถานการณ์การเกิดของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เด็กจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาที่มีคุณภาพเพียงพอในช่วงแรกของชีวิตอันเป็นช่วงสำคัญที่สุด จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหา ‘เกิดไม่ได้ เกิดไม่พร้อม และโตไม่ดี’ โดยวางกรอบทิศทางของนโยบายสำหรับเด็กและครอบครัวไทยทุกคนภายใต้แนวคิด “Happy Child - Happy Family - Happy Community” เพื่อปิดช่องว่างและยกระดับการพัฒนาให้เด็กเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
พร้อมกันนั้นยังควบคู่กับการสร้างความตระหนักในสังคมให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของเด็กในการเป็นอนาคตของชาติ ภายใต้การดำเนินการผ่านการสร้างแรงขับเคลื่อนทางสังคมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ให้ทั้งสังคมมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กร่วมกัน (Momentum) การมีนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว การสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ปลอดภัยและเอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ในการเลี้ยงดูเด็ก และการพัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อเป็นฐานในการวางนโยบายที่มีประสิทธิภาพในระยะต่อไป
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนคุ้นเคยกับคำว่าสังคมสูงวัย ว่าหมายถึงการมีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น หากแต่ความจริงแล้วภายใต้บริบทนี้ยังมีความหมายว่าจำนวนเด็กที่เกิดใหม่นั้นลดลงด้วย โดยจากเดิมในอดีตที่ประเทศไทยมีประชากรเกิดใหม่ปีละหลักล้านคน ปัจจุบันเหลือจำนวนการเกิดเพียงปีละ 5 แสนคนเท่านั้น
ทั้งนี้ ทางสภาพัฒน์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำแผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ในการรองรับสังคมสูงวัย โดยประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในร่างแผนดังกล่าว คือการส่งเสริมการมีบุตรในกลุ่มประชากรที่ต้องการมีบุตร ให้สามารถสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ ภายใต้ระบบที่เอื้อต่อการเกิดและการเลี้ยงดูเด็ก ทำให้ประเด็นเรื่องนี้มีความสำคัญและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 ระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้
“จากกระบวนการร่างข้อเสนอที่ผ่านมา เราได้มีการระดมความเห็นจากทั้งระดับภูมิภาคและส่วนกลาง จนได้ข้อมูลและข้อเสนอจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ ให้คณะทำงานนำมาปรับตัวรายละเอียดข้อเสนอ ไม่ว่าจะเป็นนิยาม สถานการณ์ จนนำมาสู่กรอบทิศทางนโยบายและร่างมติฯ ที่มีความคมชัดมากยิ่งขึ้น โดยในวันนี้เราได้เอาร่างมติฯ มาระดมความเห็นอีกครั้ง ก่อนที่จะรวบรวมข้อเสนอไปปรับปรุงให้ร่างมติฯ นี้มีความสมบูรณ์ พร้อมที่จะรับรองร่วมกันในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16” น.ส.วรวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ ภายในเวทีพิจารณา ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมทั้งในที่ประชุมและผ่านระบบออนไลน์ ได้มีการร่วมกันให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งสามารถเป็นประโยชน์ในเชิงของการขับเคลื่อนมติฯ ต่อไปได้ อาทิ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้อำนวยการกองอนามัยมารดาและทารก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอถึงมุมมองการมี ‘โรงเรียนพ่อแม่’ ซึ่งจะต้องสร้างความตระหนักให้ผู้ปกครองมองเห็นถึงประโยชน์ สามารถมาเข้าถึงแหล่งความรู้นี้ได้และนำไปใช้ในการเลี้ยงดูบุตร ขณะที่ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษา รมว.สธ. ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนที่มีความพร้อมได้มารู้จักและสร้างครอบครัวร่วมกันได้ พร้อมตั้งคำถามถึงเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่มีความพร้อม ว่าควรจะมีแนวทางในการนำเข้ามาให้รัฐร่วมเลี้ยงดูด้วยหรือไม่อย่างไร เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอหรือข้อคิดเห็นบางส่วน ซึ่งพบว่าที่ประชุมส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในแง่ของการจัดการเด็กที่เกิดจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การสนับสนุนในด้านของการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การส่งเสริมการมีบุตรในระดับท้องถิ่น โดยใช้กลไกงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่ได้มากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่วิจัยเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้และมาตรการ ที่จะมีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน เป็นต้น
นพ.กิจจา เรืองไทย รองประธานคณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า ภายในเวทีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งนับเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนได้ฉันทมติต่อกรอบทิศทางนโยบายร่วมกันในวันนี้ ภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนได้ร่วมกันให้ข้อมูล ข้อเสนอ รวมถึงแนวทางต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้เป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนมตินี้ให้เกิดผลสำเร็จต่อไป เพราะหัวใจสำคัญไม่ใช่การผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายเท่านั้น แต่องค์กรภาคีต่างๆ ยังจะมีส่วนช่วยกันในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จต่อไปด้วย
ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 พ.ศ. 2565-2566 กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คือกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายบนการมีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นการสร้างสังคมสุขภาวะในมิติใหม่ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปีที่ 16 ซึ่งครั้งนี้จะมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
สำหรับ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 จะมีการจัดภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยมีระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณารวม 3 ระเบียบวาระ ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ, ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง และการส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่
แท็ก :
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ