กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) จัดอบรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ ในหัวข้อ การพัฒนาองค์ความรู้พรรณไม้พืชถิ่น “กระเจียว” สู่การผลิตเชิงพานิชย์ ภายใต้ โครงการการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้กับผู้ประกอบการ และเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ได้มอบหมายให้ นายสายันต์ ตันพานิช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมให้การต้อนรับ นายวรวิทย์ นามมหานวล นายอำเภอเทพสถิต นางสาวสุรีวรรณ นาคาศัย ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมศักดิ์ กาญจนะคช หัวหน้าอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และนางสาวทรายศิรินทร์ ภู่กันมาศกุล สมาชิกสภาจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้ 1) การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากพืชกลุ่มกระเจียวพื้นถิ่น อำเภอเทพสถิต โดย นายเอนก อุปรัตน์ จากภูพร้อมดาวฟาร์มสเตย์ 2) แนวทางการผลิตและปลูกเลี้ยงพืชสกุลปทุมมาในพื้นที่ภาคใต้ โดย ดร.ชัยภูมิ สุขสำราญ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 3) การปลูกเลี้ยงพืชสกุลปทุมมาและกระเจียวเชิงพานิชย์ โดย คุณกุญช์ชญา สวัสดี จากสวนสวัสดี จังหวัดเชียงใหม่ 4) การปลูกเลี้ยงตามแนวทางการปฏิบัติการทางการเกษตรที่ดีสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ โดย นางชลธิชา นิวาสประกฤติ นักวิจัยอาวุโส ศนก.วว. 5) การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากไม้ดอกไม้ประดับเพื่อรองรับมาตรฐาน อาหารและยา (อย.) โดย นางเรวดี มีสัตย์ นักวิจัยอาวุโส วว. และการปลูกเลี้ยงดอกไม้กินได้ รวมทั้งกล่าวสรุปการดำเนินกิจกรรม โดยหัวหน้าโครงการ ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยอาวุโส ศนก.วว.
นอกจากการจัดกิจกรรมอบรมดังกล่าว วว. ยังได้ลงพื้นที่ร่วมพูดคุยและหารือเรื่องแนวทางการพัฒนากระเจียวพื้นถิ่น ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ เพื่อให้ตอบโจทย์แผนพัฒนาที่จะกำหนดอนาคตและทิศทางของการพัฒนาการเกษตรและการท่องเที่ยวของจังหวัด รวมทั้งมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในอนาคต
แท็ก :
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
กระเจียว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม