ก.แรงงาน ปั้นวิทยากรต้นแบบมุ่งหวังเทรนเทคโนฯ ชั้นสูงให้แรงงาน ตั้งเป้า EEC สู่ย่านเศรษฐกิจระดับโลก นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เป็น World-Class Economic Zone รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster โดยในระยะ 5 ปีแรก เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงมีความต้องการแรงงานฝีมือจำนวนมากในรองรับการลงทุน และเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กพร. ขับเคลื่อน โครงการพัฒนาแรงงานเขตพิเศษภาคตะวันออก เพื่อผลิตแรงงานป้อนสู่เขต EEC
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้ดำเนินกิจกรรม พัฒนาวิทยากรต้นแบบ เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรฝึกของกพร. (ครูฝึก) และวิทยากรของภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถนำองค์ความรู้และทักษะไปถ่ายทอดและอบรมขยายผลให้แก่พนักงานสถานประกอบกิจการ แรงงานทั่วไป นักศึกษาระดับปวช. ปวส. มีกำหนดการฝึกอบรม 4 สาขา ได้แก่ (1) การเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ (2) การใช้โปรแกรม CAD/CAM ชั้นสูงสำหรับงานกัด-กลึง (3) การใช้ PLC ในงานแมคคาทรอนิกส์อุตสาหกรรม (ทั้งสามหลักสูตรใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง) และ (4) การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ (ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง) หลักสูตรเหล่านี้จะสามารถผลิตแรงงานฝีมือ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ EEC และทั่วประเทศ
“เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี มีการฝึกอบรม สาขาการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ วิทยากรที่เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมและการควบคุมหุ่นยนต์ในการเชื่อม และสาขาการใช้โปรแกรม CAD/CAM ชั้นสูงสำหรับงานกัด-กลึง เรียนรู้เกี่ยวกับการทำโปรแกรมกัด-กลึงด้วย HyperMILL การถ่ายทอดการกัด-กลึงงานด้วยเครื่องกัด-กลึง เป็นต้น โดยวิทยากรจะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับแรงงานในแต่ละจังหวัดในรูปแบบคอร์สฝึกอบรม โดยเฉพาะจังหวัดในเขต EEC ฝึกอบรมมากเป็นพิเศษ” อธิบดีกพร. กล่าว
Admin | Watthanai Riyapan
Creatve | Borwontat Ratchak
แท็ก :
#สู่ย่านเศรษฐกิจระดับโลก
# กระทรวงแรงงาน
#กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน