ภาวะโลกร้อน (global warming) ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเข้าสู่จุดเริ่มต้นของ “ภาวะโลกเดือด” (global boiling) ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ภาคธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับการผลักดันเรื่อง nature positive หรือผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ผนวกเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักขององค์กร รวมถึงกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ผ่านการลงมือปฏิบัติ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) คืนต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติให้กับโลก เพื่อช่วยโลกจากวิกฤต
หนึ่งในสิ่งที่กลุ่มธุรกิจ TCP ทำเพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน คือการปลุกพลังชวนคนรุ่นใหม่มาเป็นอาสาสมัคร เข้าร่วมโครงการภายใต้ชื่อ TCP Spirit ที่เปิดโอกาสให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งในปีนี้จัดภายใต้ธีมคณะเศษสร้าง ปี 2 “แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ” สอดคล้องกับหนึ่งในกลยุทธ์ด้านความอย่างยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ TCP คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำทีมอาสาสมัครมุ่งสู่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เจาะลึกเรื่องการจัดการขยะ ไขความลับแห่งผืนป่า ตลอดจนทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการลงมือเพื่อโลกที่ยั่งยืน
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ให้มุมมองที่น่าสนใจระหว่างกิจกรรมเดินป่าว่า “การเดินป่าที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีความแตกต่างและทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เข้าใจถึงธรรมชาติที่มีการหมุนเวียนในตัวเอง นั่นคือ การเกิดขึ้น เติบโต ย่อยสลาย และกลับคืนสู่โลกเพื่อสร้างธรรมชาติขึ้นใหม่ ซึ่งธุรกิจสามารถนำมาเป็นแนวทางและปรับใช้ได้ ตั้งแต่การออกแบบวัสดุให้สามารถนำไปหมุนเวียน และบริหารจัดการทรัพยากรในระบบการผลิตให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวทางของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มุ่งนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืนที่เราตั้งไว้”
ไขความลับพลังธรรมชาติ จากระบบนิเวศสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
ผืนป่า เป็นเสมือนปอดของโลก เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างน่าอัศจรรย์ และเป็นแหล่งกำเนิดทรัพยากรที่ให้ “นิเวศบริการ” (ecosystem services) หรือบริการด้านระบบนิเวศ ทั้งอากาศ น้ำ ปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ รวมถึงพลังงานต่างๆ ที่มนุษย์นำมาใช้ จึงต้องช่วยกันเติมเต็มและรักษา
ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ผู้รับหน้าที่ครูใหญ่คณะเศษสร้าง กล่าวว่า “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีความเชื่อมโยงกับศาสตร์ที่เรียกว่า ชีวะลอกเลียน หรือ biomimicry เป็นการเรียนรู้ การลอกแบบจากนวัตกรรมที่ธรรมชาติได้ลองผิดลองถูกมาเป็นล้านๆ ปี และเจอปัญหาเหมือนเรา แต่ธรรมชาติผ่านการพัฒนามาแล้ว ดังนั้นทางออกหลายอย่างที่ธรรมชาติค้นพบ เป็นสิ่งที่เราสามารถนำมาใช้ได้ อย่าลืมว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แนวการพัฒนาต่างๆ ต้องรักษาต้นทุนเอาไว้ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ไม่ให้ขาดทุนนั่นเอง”
เรียนรู้เศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่าน butterfly diagram
“TCP Spirit ปีนี้ เราได้นำแผนภาพผีเสื้อ (butterfly diagram) มาให้อาสาสมัคร ได้เรียนรู้เจาะลึกถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เห็นภาพรวมตลอดการเดินทางของขยะว่าแยกแล้ว จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างวิถีไร้ขยะ รวมถึงเข้าใจธรรมชาติ การอยู่ร่วมกัน เพื่อดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง” ดร.เพชร กล่าว
แผนภาพ butterfly diagram เป็นแผนภาพที่ใช้อธิบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ออกแบบโดย Ellen MacArthur ซึ่งเป็นแนวคิดในการออกแบบกระบวนการผลิต บริการ และรูปแบบธุรกิจ ที่ให้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียน ลดของเสีย หรือนำไปสู่การไม่มีของเสียในที่สุด แบ่งเป็น วัฏจักรทางธรรมชาติ (ปีกผีเสื้อด้านซ้าย) ที่วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจะถูกส่งกลับคืนสู่โลกเพื่อสร้างธรรมชาติขึ้นใหม่ และวัฏจักรของวัสดุ (ปีกผีเสื้อด้านขวา) ที่ผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ย่อยสลายไม่ได้ จะถูกหมุนเวียนผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การผลิตซ้ำ และการรีไซเคิล
Butterfly diagram และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ต่อยอดสู่การปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจ
เราสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ได้ โดยสร้างการหมุนเวียนวัสดุง่ายๆ ด้วยตนเอง เช่น นำสิ่งของที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ซ้ำ เพื่อลดปริมาณขยะ และช่วยแยกขยะ เพื่อให้เกิดการรีไซเคิลนำไปบริหารจัดการอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นการช่วยลดของเสียและป้องกันทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลาย
สำหรับองค์กรธุรกิจควรพิจารณาว่าจะสามารถมีบทบาทได้ในขั้นตอนใดของวงจร อาจเริ่มจากการลดของเสีย หรือทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ไปจนถึงทำให้เกิดของเสียเป็นศูนย์ รวมถึงการดูแลและหมุนเวียนทรัพยากรให้ได้มากที่สุด ซึ่งทำได้ทั้งในกระบวนการผลิต ให้บริการ หรือการปฏิบัติงานในสำนักงานทั่วไป ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองดูแนวทางจากกลุ่มธุรกิจ TCP:
“ปัจจุบัน ผู้บริโภครุ่นใหม่สนใจเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ชวนให้ทุกคนร่วมกันคิด เช่น เมื่อมองบรรจุภัณฑ์หรือถ้วยกาแฟ แล้วตั้งคำถามถึงวัสดุที่ทำ จะเริ่มเกิดแรงผลักดัน และเมื่อมีการพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น ก็จะมีน้ำหนัก ผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคม เมื่อลูกค้าให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น องค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็จะตอบโจทย์ สร้างผลกำไรคืนกลับมาได้ ทุกส่วนของธุรกิจจึงมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ได้ และเราไม่ได้แข่งกับใคร เราทำให้ดีขึ้น เป็นเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม” นายสราวุฒิ กล่าวสรุป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แผนกสื่อสารองค์กร กลุ่มธุรกิจ TCP:
ปภาดา ตวงหิรัญวิมล โทรศัพท์ 02-415-0100 หรือ 081-621-2404
เอบีเอ็ม คอนเนค:
สาธิดา มีอุดร โทรศัพท์ 085-166-2442 อีเมล satida.m@abm.co.th
จรรยา จ้อยเจริญ โทรศัพท์ 081-995-9945 อีเมล janya.j@abm.co.th
แท็ก :
เศรษฐกิจหมุนเวียน
ระบบนิเวศ
TCP Spirit