รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวส ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ นำเครื่อง remote monitoring หรือเครื่องตรวจและส่งข้อมูลคนไข้ระยะไกลซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ล่าสุดมาใช้ในการตรวจและส่งข้อมูลทางการแพทย์ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเครื่องดังกล่าวเป็นการใช้เทคโนโลยี และ application เพื่อช่วยติดตามอาการในกลุ่มคนไข้ที่ติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดมาตรวจอาการกับแพทย์ที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ทำให้สามารถตรวจติดตามอาการคนไข้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง โดยคนไข้สามารถไปตรวจกับแพทย์ที่โรงพยาบาลจังหวัดของตนเองซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์ฯ โดยแพทย์จะใช้รีโมทควบคุมและอ่านสัญญาณจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในตัวคนไข้ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆจะปรากฏบนหน้าจอ tablet PC ที่เครื่องศูนย์กลางข้อมูลที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ทำให้แพทย์สามารถตรวจติดตามการรักษาได้อย่างสะดวกรวดเร็วเหมือนมาตรวจจริงที่โรงพยาบาล
ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ฯนับเป็นแห่งแรกในประเทศ ที่นำเทคโนโลยีทางการแพทย์ดังกล่าวมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยนำร่องไปยังโรงพยาบาลในเครือข่าย 8 จังหวัดก่อน และในอนาคตอันใกล้จะครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การนำเทคโนโลโลยี remote monitoring มาใช้การตรวจติดตามอาการผู้ป่วยโรคหัวใจ นอกจากจะช่วยลดขั้นตอนการเดินทางมาโรงพยาบาลข้ามจังหวัด ซึ่งเป็นการลดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยลดความแออัดของจำนวนผู้ป่วยที่มาตรวจรักษาภายในโรงพยาบาลได้กว่า 50% ในช่วงของการเฝ้าระวังการระบาดของ COVID-19 อีกด้วย
แท็ก :
ม.ขอนแก่น
โรคหัวใจ
remote monitoring
นวัตกรรมทางการแพทย์
ศูนย์หัวใจสิริกิติ์