สถานการณ์การระบาดของ covid-19 มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ทำ ระบบจัดการการดูแลผู้ป่วยกักตัวที่อยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation Management System ขึ้นมา เพื่อเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สามารถรับผู้ป่วยได้มากขึ้น และ มีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาของโรงพยาบาลได้มากขึ้น ซึ่งจากการนำระบบไปใช้งานจริงโดยทีมแพทย์ และ สามารถปิดเคสการรักษาผู้ติดเชื้อ covid-19 ได้สำเร็จ ผลการใช้งานนับเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
รศ.พญ. วริสรา ลุวีระ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะแพทย์ผู้ใช้งานระบบดังกล่าว เปิดเผยเกี่ยวกับการรักษารูปแบบใหม่ที่ใช้ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ covid-19 ว่า การรักษาแบบ Home Isolation ที่บ้าน มี 2 กรณี กรณีที่ 1 ผู้ติดเชื้อไปรักษาตัวที่บ้านตั้งแต่แรก หลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค covid-19 กรณีที่ 2 หลังจากที่ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลสนามไปประมาณ 7-10 วัน เมื่ออาการดีขึ้น จนแทบไม่มีอาการ หรือ ไม่มีอาการ สามารถกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านในลักษณะของการแยกกักตัว พร้อมๆกับมีระบบการติดตามของทีมแพทย์และพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
“จากการที่เคยใช้ระบบนี้ในการดูแลผู้ป่วย Home Isolation คิดว่าเป็นระบบที่ใช้งานง่ายมาก ๆ ได้ผลดีในแง่คนไข้สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้จนกระทั่งสิ้นสุด 14 วันของการรักษา ทำให้ผู้ป่วยสามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านโดยสามารถที่จะแยกจากชุมชนได้ นอกจากนี้ยังทำให้หมอและพยาบาลทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะว่าเป็นลักษณะของการติดต่อสื่อสารผ่านมือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ เมื่อถึงเวลาคนไข้จะรายงานอุณหภูมิร่างกาย ออกซิเจนในเลือด และ ทีมแพทย์ พยาบาล จะประเมินว่าผิดปกติหรือไม่ผิดปกติ นอกจากนี้ในระหว่างที่มีการรักษาอยู่ที่บ้าน เราก็สามารถที่จะให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่คนไข้ผ่านทางระบบนี้ได้ถ้าคนไข้มีปัญหา สงสัย จะสามารถสอบถามทางระบบได้ตลอดเวลา”
ในการเลือกผู้ป่วยที่จะเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบ Home Isolation รศ.พญ. วริสรา ระบุว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย โดยคนไข้จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว อยู่ในกลุ่มคนไข้สีเขียว ไม่มีอาการ หรือ มีอาการน้อยมาก มีการประเมินบ้านผู้ป่วย การใช้เครื่องมือสื่อสารของผู้ป่วยด้วยว่า สามารถที่จะใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อที่จะติดต่อกับทีมแพทย์ได้อย่างดีหรือไม่ ถ้าผ่านเกณฑ์ทั้งหมดผู้ป่วยจึงจะสามารถเข้าสู่ระบบ Home Isolation ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เหมาะกับการรักษาในลักษณะนี้ มักจะเป็นวัยทำงาน นักศึกษา ที่ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ และสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้เป็นอย่างดี
“ในหลักการของการดูแลผู้ป่วย Home Isolation จะเป็นผู้ป่วยที่รักษาไม่ครบ 14 วัน แต่จะไปทำการรักษาต่อที่บ้าน เพื่อให้ครบตามจำนวนวัน เมื่อผู้ป่วยกลับไปที่บ้าน แพทย์และพยาบาลจะใช้ระบบ Home Isolation มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการติดตามผู้ป่วย นอกจากนี้ระบบยังมีการติดตามตำแหน่งของผู้ป่วยอีกด้วย โดยเราจะเน้นย้ำให้ผู้ป่วยอยู่เฉพาะแต่ในบ้าน เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ป่วยอยู่แต่ในบ้านชุมชนรอบข้างจะไม่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 นอกจากนี้ในการเลือกคนไข้เข้าสู่การดูแลแบบ Home Isolation เราจะเน้นเป็นบ้านที่มีผู้อาศัยอยู่ร่วมไม่เยอะ เป็นการอยู่คนเดียว หรือ อาจจะมีผู้อยู่ร่วมอีก 1 คน ในแนวทางปฏิบัติ ต้องต่างคนต่างอยู่ คนไข้จะอยู่ในห้องของตัวเอง เป็นห้องที่มีพร้อมทุกอย่าง มีห้องน้ำ เพื่อที่จะไม่ไปสัมผัสกับบุคคลที่อยู่ในบ้าน ถ้าจะติดต่อสื่อสารกันในบ้านแนะนำให้ใช้ระบบสื่อสารที่ไม่ต้องพบเจอกันตรงๆ แต่ถ้าต้องพบเจอกันตรงๆให้ใส่มาสก์กันทั้งคู่และอยู่ห่างกัน 2 เมตรขึ้นไป”
หลังจากผู้ป่วย หายจากโรคเมื่อรักษาครบ 14 วัน จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ ขณะเดียวกันการกลับไปอยู่ร่วมกับชุมชนนั้น ยังจำเป็นที่ต้อง ใช้ชีวิตแบบ new normal ไม่ว่าจะเป็น ทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนในชุมชน และจากการรักษาที่ผ่านมา นางสาววราภรณ์ นาบุญ ผู้ติดเชื้อ covid-19 ที่เข้าร่วมการรักษาใน ระบบ Home Isolation คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคนแรก ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการรักษาครั้งนี้ว่า พึงพอใจในระบบการจัดการดังกล่าวที่สามารถ แบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการดูแลตนเอง พร้อมๆกับ การเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่มีอาการหนักกว่า ได้เข้าถึงการรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และพยาบาล
“เมื่อคุณหมอแจ้งว่าติดเชื้อ covid-19 ก็ให้เตรียมของใช้ส่วนตัวสำหรับการไปพักโรงพยาบาล 14 วัน โดยวันแรก นอนพักรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 1 วัน เช้าวันรุ่งขึ้นจึงย้ายไปรักษาโรงพยาบาลสนาม และรักษาอยู่ 11 วัน สิ่งสำคัญที่หนูคิดไว้คือต้องลดการครองเตียง ขณะนั้นได้ฟังข่าว จึงทำให้ทราบว่ามีโครงการนี้ และคิดว่าหนูน่าจะเข้าข่ายผู้ป่วยที่เป็นไปตามเกณฑ์โครงการ เพราะว่าตั้งแต่เข้ามาอยู่โรงพยาบาลสนาม ไม่มีอาการไข้ ตัวไม่ร้อน แต่ไม่ได้กลิ่น หนูเลยขอกลับมากักตัวที่บ้านเพื่อที่จะให้เตียงสำหรับคนที่เขามีอายุมากกว่าเขาควรจะได้เตียงของหนูไป หนูร่างกายแข็งแรง สามารถดูแลตัวเองได้ ควรมีเตียงสำหรับคนที่ต้องการการดูแล มีพี่พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด”นางสาววราภรณ์ กล่าว
เมื่อแพทย์ที่ดูแลอนุญาตประกอบกับระบบ Home Isolation มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วางรูปแบบการใช้งานไว้แล้ว วราภรณ์ จึงได้การมารักษาตัวต่อที่บ้าน ซึ่งเธอปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมแพทย์อย่างเคร่งครัด
นางสาววราภรณ์ กล่าวด้วยว่า “คุณหมอจะโทรมาพูดคุยขั้นตอนการดูแลรักษาตนเอง ขั้นตอนที่เราต้องไปอยู่กับบุคคลอื่น การทิ้งขยะการพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ การห้ามใกล้ชิดผู้อื่น ต่อจากนั้นคุณหมอก็ประสานกับทีมรถจัดส่ง เตรียมเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ที่วัดไข้จะมีเป็นกล่องให้เลย และ มีถุงดำสำหรับใส่ขยะส่วนตัวที่แยกจากคนที่อยู่ในบ้าน ชุดยาสามัญประจำบ้าน ชุดแมสก์ แอลกอฮอล์สำหรับฉีดพ่นทุกๆที่ที่จะสร้างความเสี่ยงกับบุคคลอื่น หนูกลับมาดูแลกักตัวเองที่บ้านอีก 3 วัน โดยมีพี่อยู่บ้านด้วย หนูจะใส่แมสตลอดเวลาและทุกที่ที่ไปก็จะฉีดพ่นแอลกอฮอล์ทุกจุด ขยะ ของใช้ส่วนตัว จะใส่ถุงดำ เพราะคุณหมอกำชับและเคร่งมากเมื่อเต็มแล้วก็จะมัดปากถุงและใส่ถุงซ้อนกันประมาณ 3 ชั้น ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์พ่นให้ทั่วถุงวางไว้ประมาณ 3 วันและค่อยเอาทิ้ง”
นางสาววราภรณ์ กล่าวอีกว่า “เมื่อกลับไปอยู่บ้านพี่ๆทีมแพทย์ดูแลดีมาก ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราก็วัดค่าออกซิเจนในเลือด วัดไข้ และส่งข้อมูลไปทางไลน์ ต่อจากนั้นคุณหมอก็จะสอบถามวันนี้เป็นไงบ้างมีความเครียดไหม มีความวิตกกังวลไหม ที่บ้านเป็นไงบ้าง ได้เจอใครหรือเปล่า วันนี้ได้ออกไปไหนไหม มีอาหารจากโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ ครบทุกมื้อเช้า กลางวัน เย็น มาห้อยให้ที่หน้าบ้านทุกวัน โดยเป็นเมนูให้เราเลือกว่าจะทานอะไรเมื่อสั่งเสร็จแล้วพี่เขาจะส่งข้อความมาบอกว่าอาหารวางไว้ที่ห้อยไว้ที่ประตูแล้ว ส่วนตัวเลยรู้สึกว่าเราปลอดภัย ถ้ามีอาการไหนที่ผิดปกติคุณหมอก็จะเป็นห่วงมาก”
นางสาววราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า “ขอให้มั่นใจว่ากว่าที่คุณหมอจะให้เรากลับมารักษาตัวเองที่บ้าน คุณหมอได้มั่นใจและเชื่อว่าเราไม่สามารถจะไม่แพร่เชื้อ ฉะนั้นสำหรับพี่พี่ทุกคนที่ติดเชื้อโควิดและมีอาการในกลุ่มสีเขียว ที่สามารถดูแลตัวเองได้ หนูคิดว่าการที่เรากลับมาดูแลรักษาตัวเองที่บ้านไม่ได้น่ากลัวเพราะคุณหมอดูแลดีมาก แตกต่างจากโรงพยาบาลนิดเดียวคือเราอาจจะไม่ได้เจอพี่ ๆ พยาบาลที่โรงพยาบาลสนาม แต่ว่าเชื่อว่าการกลับมาอยู่ที่บ้านอาจจะทำให้เราไม่เครียดและ relax ได้มากกว่า และ ลดภาวะการครองเตียง มีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ได้ใกล้ชิดคุณหมอมากกว่าเรา การดูแลในลักษณะนี้ไม่ยุ่งยากเราแค่ต้องปฏิบัติตามข้อที่คุณหมอให้อย่างเคร่งครัด”
ในช่วงเวลาที่ยอดผู้ติดเชื้อ covid-19 ในประเทศไทยสูงขึ้น ระบบ Home Isolation มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอีกนวัตกรรมที่เชื่อมการเดินไปพร้อมของทุกฝ่าย เชื่อว่าเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานในครั้งนี้จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความมั่นใจการใช้งาน พร้อมๆกับเป็นอีกหนึ่งความหวังที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการการรักษา และ มีเตียงเพียงพอ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนัก นวัตกรรมในครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งความหวัง ในการผ่านวิกฤติ covid-19 ในประเทศไทยไปพร้อมกัน
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูล Home Isolation มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ที่ https://homeisolation.kku.ac.th/
แท็ก :
Home Isolation
มข.
covid-19