การใช้ชีวิตในฐานะคนส่วนน้อยในที่ที่ต่างถิ่นและห่างไกลจากบ้านเกิดของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร ผู้คนในฐานะคนส่วนน้อยเหล่านี้มีความรู้สึกอย่างไร พวกเขาจะเอาตัวรอดได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องทิ้งอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตน สิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาคืออะไร วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นมีบทบาทส่วนร่วมด้วยหรือไม่ นี่เป็นแค่คำถามส่วนหนึ่งที่ คุณวัลลภ หาญสันเทียะ ถามในนิทรรศการ “HAUS” ของเขา
คำแถลงศิลปิน
บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การแลกเปลี่ยนบทสนทนา เสมือนเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารเรื่องราวการสะท้อนรากฐานทางวัฒนธรรมเดิมบนพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันแตกต่างออกไปของคนพลัดถิ่น และการสำรวจมุมมองต่อสถานการณ์ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จึงเป็นตัวแปรสำคัญของการรับรู้เชิงความคิดในมิติใหม่ การสอดแทรกกลิ่นอายของความเป็นพื้นเพเดิมผ่านอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ หรือแม้แต่การเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ถือเป็นเรื่องจำเป็นต่อการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่มีจุดเชื่อมโยงกันทางประวัติศาสตร์ การค้าขาย เศรษฐกิจ การเมือง และอุตสาหกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นรอยต่อของกลุ่มคนพลัดถิ่นทั้งสิ้น รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมทางอาหาร แสดงให้เห็นถึงการ “สร้างพื้นที่” ท่ามกลางบริบทข้ามชาติ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมใหม่ คล้ายกับเป็นการเติมเต็มรสชาติที่โหยหาจากบ้านเกิด ชวนให้ย้อนรำลึกนึกถึงภาพจำในครั้งวันวาน
การจำลอง “ความทรงจำของคนพลัดถิ่น” (diasporic memory) ให้กับคนพลัดถิ่นหรือแม้กระทั่งการนำพาผู้ชมเข้าไปรวมสัมผัสถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันถูกทับซ้อน ถือว่าเป็นการสร้างประสบการณ์การรับรู้ในมิติ ให้ชวนคิดและตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำของสถานภาพทางสังคม
แนวคิด
ความรู้สึกทรงจำผ่านวงพาข้าวคือการจำลองบรรยากาศของการรับประทานอาหารร่วมกันของครอบครัว นำเสนอเสียงผ่านประสบการณ์ความทรงจำ ชวนให้ผู้คนเข้าสำรวจถึงความทรงจำเก่า
ถ้าหากพูดถึงครอบครัวผ่านวัฒนธรรมอาหาร ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องอาหารการกิน คือ เรื่องต้นๆ ที่ชวนทำให้รู้สึกนึกถึงความทรงจำเก่าหลายอย่าง บางครั้งคิดถึงคนในครอบครัว เพราะรสชาติอาหาร หรือบางครั้งจำเรื่องราวสำคัญผ่านรูปลักษณ์จากอาหารที่ได้กิน หรือแม้แต่บางครั้งก็ชวนให้กลับคิดถึงมวลบรรยากาศของ "วงพาข้าว" จากการที่มีมวลบรรยากาศรอบตัวเป็นปัจจัยประกอบขณะกินอาหาร และสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งนำพาให้มนุษย์ได้หวงแหนถึงความสัมพันธ์ อีกนัยหนึ่งรูปลักษณ์ของอาหารเองยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนถึงสถานะภาพของการเป็นมนุษย์
"พาข้าว" เป็นคำลาวอีสาน แปลว่า สำรับอาหาร วัฒนธรรมย่อยที่เชื่อมโยงให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ปัจจัยที่ใช้ปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านวัฒนธรรมการกิน สิ่งนี้เองไม่ได้เพียงเพื่อดำรงชีพเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงสถานภาพความเป็นมนุษย์ตามปัจจัยของโครงสร้างทางสังคมหลายอย่าง "พาข้าว" ถูกกล่าวผ่านวัฒนธรรมอาหารที่ยึดโยงกับตัวปัจเจกพื้นเพของศิลปิน ซึ่งเป็นคนลาวอีสาน นำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองว่า "เราต่างล้วนผ่านการกินอาหารกับครอบครัว" จึงชวนให้ย้อนกลับไปสำรวจความทรงจำเหล่านั้น และชวนตั้งคำถามถึงสถานะภาพทางสังคมกับการอิ่มท้องผ่านมิติของวัฒนธรรมอาหาร ไม่ใช่เพียงการมีอะไรก็กินๆ ไปเพื่ออิ่มท้อง แต่ยังได้ชวนสำรวจถึงโครงสร้างสร้างสังคมที่มีผลต่อการเลือกสรรอาหาร
“เสียง” ถูกนำเสนอผ่านพาข้าว คือ การใช้เสียงเพื่อสร้าง sound scape เสียงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่หยิบยกนำเสนอผ่านวัฒนธรรมการกินเท่านั้น ยังถูกนำเสนอผ่านบริบทของความเชื่อทียั่วล้อไปกับความโครงสร้างสังคม เสมือนวาทกรรมแช่แข็งความยากจน ความเชื่อทางจิตวิญญาณที่เห็นชัดคือการบูชาผี(ในความเชื่อลาวอีสาน ผีสามารถมีได้ทั้งดีและไม่ดี ผีที่ดีคือเป็นได้ทั้งเทวดาและเทพ ผีไม่ดีคือจำพวกอสูรกาย) ด้วยพื้นเพดังกล่าวจากความทรงจำเห็นมาตลอดว่าวัฒนธรรมอาหารอยู่ในทุกๆ พิธีกรรม จึงได้ใช้เสียงสร้างมวลบรรยากาศ จำลองบริบทระหว่างสำรับอาหารกับมนุษย์ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนเข้าสำรวจถึงพื้นที่ความทรงจำ และขยายขอบเขตมิติของประสบการณ์ผ่านวัฒนธรรมอาหารและจิตวิญญาณ
แท็ก :
จังหวัดเชียงใหม่
Head High Second Floor
นิทรรศการ HAUS