รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ในหัวข้อ “เกษตรสร้างชาติ นวัตกรรมสร้างอาชีพ การยกระดับอาชีพเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำของ รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้จัดขึ้นผ่านระบบซูมและแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งมีนักวิชาการ Young Smart Farmer ผู้นำและตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ นักธุรกิจภาคเอกชน นักพัฒนา เกษตรกร และคณาจารย์ ร่วม rISNED KKU Talk ระดมกันนำเอาความรู้หลากหลายในแนวทางการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊กผักนวัตกรรม มข.-อว. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมรูปแบบ Onsite จำนวน 40 คน และนักศึกษา ประชาชน หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วทั้งภาคอีสานร่วมประชุมในรูปแบบ Zoom Online กว่า 300 คน
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในพิธีเปิดว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความมุ่งมั่นในพันธกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมในการสร้างคุณค่าร่วมกันในสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอันที่จะนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเข้าไปปฏิบัติงานให้ได้ผลอย่างแท้จริงในพื้นที่ และเกิดการยกระดับต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ได้รับการพิสูจน์จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบ นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเด็นปัญหาและบริบทต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่
“ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินโครงการยกระดับอาชีพเกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้เกิดผลกระทบทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค และสอดคล้องกับหัวข้อการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ‘เกษตรสร้างชาติ นวัตกรรมสร้างอาชีพ การยกระดับอาชีพเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม’ เป็นการสรุปองค์ความรู้ การวิจัย และการปฏิบัติภายในพื้นที่เสนอต่อสาธารณชน มหาวิทยาลัยขอนแก่นขอขอบคุณสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในครั้งนี้ และขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกิจกรรมและผลักดันให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง มหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีสนับสนุนในภารกิจและเชิญชวนนักวิชาการ ตลอดจนภาคราชการ ภาคธุรกิจ เอกชน ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรร่วมมือกันอย่างยั่งยืน” อธิการบดี มข.กล่าว
รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท กล่าวว่า “งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมจากงานวิจัยที่เราได้รับทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นทุนส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขัน โดยใช้ชื่อว่า ‘โครงการยกระดับรายได้เกษตรกรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม’ หรือ โครงการมข.แก้จน2 ต่อยอดจากโครงการเดิมที่เคยทำมาคือ โครงการมข.แก้จน ทำในระหว่างปีงบประมาณ 2557-2562 เมื่อหมดโครงการ จึงได้รับเงินอุดหนุนจาก บพข.มาทำโครงการแก้จนต่อ เพื่อยกระดับชาวบ้านโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ทั้งนี้ ได้เลือกเรื่องการเกษตรเป็นที่ตั้ง โดยนำมาสู่โครงการ ผักปลอดภัย โดยที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เนื่องจากผักเป็นสิ่งที่ปลูกหมุนเวียนเร็ว ปลูกได้ทั้ง 3 ฤดู ทำให้มีเงินหมุนหลายครั้ง โดยเลือกพื้นที่ประสบปัญหาความยากจน 5 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธ์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านต้องใช้โมเดล มข.แก้จนมายกระดับ โดยเกษตรกรที่เริ่มต้นจะต้องมีระบบรวมกลุ่ม ให้การปลูกฝังความเก่งในการใช้ระบบเกษตรปลอดภัย มีการให้ความรู้ตั้งแต่พื้นที่ปลูก โรงเรือน แปลงปลูก ให้ทำปุ๋ยใช้เอง ใช้สารชีวพรรณจัดการกับแมลงศัตรูพืช มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยใช้ความรู้จากงานวิจัยของอาจารย์คณะเกษตร ในด้านระบบได้ทางด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ช่วย และเลือกใช้ระบบตลาดออนไลน์ ซึ่งได้ทำมาเกือบปีแล้วเรา โดยในช่วงท้ายๆ ได้ทำเป็นผักกรอบ ทำการแปรรูปเป็นน้ำผัก แม้จะประสบปัญหาจากโรคระบาดโควิด-19 อย่างมาก แต่ก็สื่อสารกับชาวบ้านได้ด้วยระบบออนไลน์ เชื่อการยกระดับเกษตรด้วยเกษตรนวัตกรรมมีความหวัง อีกประมาณ 2-3 เดือนจะปิดโครงการ พร้อมรวบรวมข้อมูลผลการวิจัย ปัญหา อุปสรรค จุดอ่อน นำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และภาคนโยบายของมหาวิทยาลัย และกระทรวง อว.ต่อไป”
แท็ก :
นวัตกรรม
เกษตรกร
เกษตรสร้างชาติ
เทคโนโลยี