สถานการณ์ปัญหาขยะจากอาหารเป็นประเด็นที่ทุกประเทศกำลังร่วมมือกันแก้ไข โดยการผลักดันและประยุกต์เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food loss and Food Waste) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นกลยุทธ์ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี “Ugly Veggies Thailand” เป็นอีกหนึ่งโครงการในการสนับสนุนเพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว
ผศ.ดร.ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ วิจัยและต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการโครงการ “Ugly Veggies Thailand” กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ “Ugly Veggies Thailand” ว่า วิทยาลัยนานาชาติมีชุมชนเป้าหมาย คือ กลุ่มเกษตรกรอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ที่ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนด้าน Smart Farming เมื่อศึกษาไประยะหนึ่ง จึงพบว่าชุมชนมี Pain Point คือผัก Organic หรือผักอินทรีย์ที่ผลิตออกมาเมื่อคัดผักที่มีมาตรฐานตามความต้องการของตลาดประมาณ 50-70 % แล้วจะเหลืออีก 30% ที่ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
“ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มีในเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ทำให้นำมาสู่โจทย์ที่ว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อสร้าง Zero Waste ในกระบวนการผลิตผักอินทรีย์ ขณะเดียวกันเราไม่ได้คิดเพียงแค่ว่าเราจะกำจัดขยะอย่างไร แต่ยังหาวิธีในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่เหลือใช้เหล่านั้นด้วย”
ผศ.ดร.ชวิศ กล่าวต่ออีกว่า หากเราสามารถใช้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตผักอินทรีย์ ได้ตามเป้าหมาย 100 % ขยะทางการเกษตรของครัวเรือนจะลดลง 5.6 ตันต่อปี ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเดินหน้าทำวิจัยโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พัฒนา แพลตฟอร์ม “Ugly Veggies” ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรที่มี Certificate หรือใบรับรองของ Organic การันตีความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย นำ “ผักไม่สวย แต่มีคุณภาพ” ที่เหลือจากการคัดเกรดส่งซูเปอร์มาเก็ตมาโพสต์ขายหน้าแผงออนไลน์ของตนเองบน https://uglyveggies.kku.ac.th/ และบน Line Official ที่ชื่อว่า “Ugly Veggies Thailand” (Line: https://kku.world/uglyveggies)
โดยลูกค้าสามารถเลือกจากสินค้าที่ต้องการทั้งผักไม่สวย แต่มีคุณภาพ (Ugly Veggies), ผักออร์แกนิคคุณภาพสูง, ผลไม้ และสินค้านวัตกรรมจากผักที่ถูกทิ้ง เช่น ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ Jelly Joy ทำจากผักออร์แกนิคเสริมโพรไบโอติกและพรีไบโอติก ผ่านการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างเรียบร้อย สามารถเคี้ยวทานได้ เหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย และจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมาอีกหลายอย่าง หรือลูกค้าสามารถเลือกร้านค้าเพื่อเข้าไปเลือกชมสินค้าได้ พร้อมสื่อสารกับผู้ค้าโดยตรง
“วิทยาลัยนานาชาติ บริหารจัดการดูแลกระบวนการนี้ทั้งหมดเปรียบเหมือนแอดมิน ทั้งสร้างแพลตฟอร์ม ออกแบบ ดูแลระบบหลังบ้าน หน้าบ้าน ให้มีหน้าตา Lifely มีชีวิตชีวาชวนให้ลูกค้าเข้ามาซื้อ และอาจมีการช่วยจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ทำให้การซื้อขายมีความง่ายและสะดวกมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถโพสต์ขายและจัดส่งให้ลูกค้าได้ด้วยตัวเอง”
ทั้งนี้ Ugly Veggies กำลังดำเนินการปรับเข้าสู่การเป็น Start Up ในส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มหรือค่า GP (Gross Profit) มีการคิดจากรายได้รวมของเกษตรกรแล้วหักค่าขนส่ง โดยเขียนโปรแกรมคำนวณไว้ในแพลตฟอร์มเรียบร้อยแล้วเหมือนกับระบบ Delivery ทั่วไป
จากการศึกษาและวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรักสุขภาพ และกลุ่มวัยกลางคนที่ทำอาหารเอง ซึ่งเป็นคุณแม่ที่ต้องการทำอาหารปลอดสารเคมีให้ลูก รวมถึงต้องการนำผักออร์แกนิคมาทำอาหารเพื่อดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ทีมวิจัยสามารถสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจในการออกแบบการขาย การสร้างแบรนด์ รวมถึงการตั้งราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ คนกินปลอดภัย คนขายอยู่ได้
อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยในครั้งนี้ นอกจากมีโจทย์สำคัญ คือ การช่วยเหลือสังคม พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งงานวิจัยนี้ช่วยแก้ปัญหา SDGs 2 – ZERO HUNGER ยุติความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้คว้าอันดับ 1 ของประเทศในการจัดอันดับ THE Impact Rankings 2023 ของ Times Higher Education (THE) ในปี 2566 แล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และเข้าใจปัญหาเชิงลึกของชุมชน นำไปสู่การขับเคลื่อนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยความผูกพันและเป็นทางออกของสังคมต่อไป
แท็ก :
Ugly Veggies
ผักไม่สวย แต่มีคุณภาพ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น