มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแถลงข่าว ผลวิจัยการตรวจภูมิคุ้มกันของผู้ที่รับวัคซีน Sinovac โดย นักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ศ. ดร. สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ประธานในพิธี ผศ. ดร. สุปราณี พันธุ์ธนวิบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย ผศ. นพ. อธิบดี มีสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่นสืบเนื่องจากการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีการนำเข้าและใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นส่วนมากเพื่อฉีดให้บุคลากรด่านหน้า ก่อนที่จะมีการใช้วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์และ ชนิด mRNA ในเวลาต่อมา
ศ. ดร. สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันวิชาการชั้นสูงและเก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนโยบายที่จะช่วยสังคมในทุกๆด้าน โดยในสถานการณ์โรค COVID-19 ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทย มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงการศึกษาวิจัยเรื่องวัคซีนโควิด-19 เพราะวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะหยุดยั้งการระบาดได้และทำให้สังคมไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว มหาวิทยาลัยจึงได้ให้การสนับสนุนอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แพทย์ และนักวิจัย ได้มีโอกาสช่วยสังคม และทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการศึกษาภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac จำนวน 2 เข็ม ทั้งภูมิคุ้มกัน ด้านแอนติบอดี และด้านเซลล์ โดยจะเป็นครั้งแรกที่มี การรายงาน ภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ของผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการป้องกันโรคต่อไป
ผศ. ดร. สุปราณี พันธุ์ธนวิบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ไวรัสเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ต้องเพิ่มจำนวนภายในเซลล์ ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ใช้ในการป้องกันกำจัดเชื้อไวรัสนั้นประกอบด้วย ภูมิคุ้มกันด้านแอนติบอดี และภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ (ทีเซลล์) ในการทำงาน แอนติบอดีที่จะช่วยยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ และเมื่อใดก็ตามที่ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ ภูมิคุ้มกันด้านเซลล์จะรับหน้าที่หลักในการกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อเพื่อไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนและก่อโรค ดังนั้นการป้องกันกำจัดเชื้อไวรัสที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยภูมิคุ้มกันทั้ง 2 ชนิด
“ผลวิจัยการตรวจภูมิคุ้มกันของผู้ที่รับวัคซีน Sinovac เป็นการศึกษาแอนติบอดี และ ทีเซลล์ของผู้ที่รับวัคซีน Sinovac ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักศึกษาแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 335 คน โดยเก็บข้อมูลจากการ เจาะเลือด ทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ก่อนฉีดวัคซีน ครั้งที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก 1 ครั้งที่ 3 หลังจากฉีดวัคซีนเข็มสอง 1 เดือน (รูปที่ 1) อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างแอนติบอดีที่จำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อได้ ร้อยละ 89 หลังจากรับวัคซีนเข็มแรก และ หลังจากรับวัคซีนครบ 2 เข็ม สามารถตรวจวัดระดับปริมาณของแอนติบอดีที่จำเพาะได้ครบทุกคน (100%) ในปริมาณที่แตกต่างกันโดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1292 AU/ml (รูปที่ 1) ส่วนผลการศึกษาทีเซลล์พบว่ามีปริมาณที่ถูกกระตุ้นของ CD4+ T cell ในอาสาสมัครหลังรับวัคซีนสูงขึ้นเล็กน้อยหลังฉีดในขณะที่ CD8+ T cell ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับก่อนฉีดวัคซีน (รูปที่ 2)”
ผศ. ดร. สุปราณี กล่าวต่อไปว่า จากผลการศึกษาเบื้องต้นสรุปได้ว่า การรับวัคซีน Sinovac ในอาสาสมัครกลุ่มที่ทำการทดลอง สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิแอนติบอดีได้ดี แต่การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทีเซลล์มีน้อย จึงแนะนำให้ผู้ที่รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม ควรได้รับการกระตุ้นทีเซลล์ด้วยวัคซีนชนิดอื่นที่ไม่ใช่รูปแบบเชื้อตาย เพื่อประสิทธิภาพการป้องกันโรคที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่มีการเปลี่ยนรูปแบบวัคซีนของอาสาสมัครกลุ่มเดิม จะมีการศึกษา ภูมิแอนติบอดี และ ภูมิเซลล์ อีกครั้ง
ผศ. นพ. อธิบดี มีสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะ แพทยศาสตร์ กล่าวว่า จากผลงานวิจัยจากทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ ทำให้เราได้ทราบว่าการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มสามารถกระตุ้นให้สร้างภูมิชนิดแอนติบอดีที่จำเพาะได้ โดยในเข็มแรกจะยังมีระดับ แอนติบอดีที่ต่ำ และ จะเพิ่มมากขึ้นหลังจากเข็มที่ 2 แต่กระตุ้นภูมิด้านเซลล์นั้นยังกระตุ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยีเชื้อตาย
“ฉะนั้นผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้วัคซีนบูสต์เข็มที่ 3 โดยเฉพาะในภาวะที่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อเช่นสายพันธุ์เดลต้า เพราะระดับ แอนติบอดี ที่สร้างขึ้นนั้นอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้มีการฉีดวัคซีนไขว้ คือเข็มแรกเป็น เชื้อตาย หรือ Sinovac และเข็มที่สอง เป็น Viral Vector Vaccine หรือ AstraZeneca เนื่องจากมีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า AZ สามารถกระตุ้น T cells ได้ดี เพื่อประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิได้ทั้งสองด้าน การฉีดเข็ม 3 ให้กับผู้ที่ได้รับ SV 2 เข็มจึงควรที่จะเป็นวัคซีนที่มีความสามารถในการกระตุ้นภูมิด้านเซลล์ได้ดี ได้แก่ วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ AZ หรือชนิด mRNA” ผศ. นพ. อธิบดี กล่าวปิดท้าย
แท็ก :
แพทย์ มข.
mRNA
โควิด -19
ไวรัสเวคเตอร์